มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้าน รวมข้อควรรู้ เพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัว
การเดินระบบไฟฟ้าในบ้านเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนในบ้าน ถ้าหากการต่อไฟเข้าบ้านไม่ถูกต้องตามมาตรฐานก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้ บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านที่ถูกต้อง รวมถึงข้อควรระวังและวิธีการเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เหมาะสม เพื่อให้บ้านของคุณใช้งานระบบไฟฟ้าได้อย่างมีความปลอดภัยสูงสุด
มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านที่ควรรู้มีเรื่องอะไรบ้าง?
การเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านอย่างถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรและอัคคีภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้การใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายในบ้านมีประสิทธิภาพและยังยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชนิดอีกด้วย โดยในหัวข้อนี้จะรวบรวมทุกข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับมาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้าน เพื่อให้คุณสามารถตรวจเช็คระบบไฟฟ้าในบ้านและอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจ โดยมีข้อมูลน่ารู้ ดังนี้
ชนิดของสายไฟ
มาตรฐานสายไฟบ้านควรใช้เป็นสายทองแดงหุ้มฉนวน PVC ที่ทนแรงดันไฟฟ้าได้อย่างน้อย 300 โวลต์ โดยสายไฟหลักๆ ที่ใช้มี 4 ประเภท ได้แก่ VAF, THW, VCT และ NYY ซึ่งแต่ละชนิดเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน เช่น VAF เหมาะสำหรับเดินลอย ส่วน THW เหมาะสำหรับร้อยท่อฝังผนัง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงสีของสายไฟตามมาตรฐาน เช่น สายไลน์ใช้สีน้ำตาล ดำ หรือเทา สายนิวทรัลใช้สีฟ้า และสายดินใช้สีเขียวแถบเหลือง
ระยะห่างของสายไฟ
มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านมีการกำหนดระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างสายไฟกับส่วนต่าง ๆ ของบ้านเพื่อความปลอดภัย โดยตามมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าภายในบ้านของไทยปี 2564 รางสายไฟควรห่างจากพื้นดินอย่างน้อย 30 ซม. ห่างจากท่อน้ำ 10 ซม. ท่อแก๊ส 5 ซม. และท่อประปา 3 ซม. สำหรับผนังและฝ้าเพดาน ควรเว้นระยะอย่างน้อย 1 ซม. ซึ่งการรักษาระยะห่างเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจรและอันตรายจากไฟดูดได้
ขนาดของสายไฟ
การเลือกขนาดสายไฟที่เหมาะสมต้องคำนึงถึงความสามารถในการรองรับกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่จะใช้งานจริง ซึ่งต้องอาศัยการคำนวณที่แม่นยำจากสูตร “กระแสไฟฟ้าสูงสุด = กำลังไฟฟ้า / แรงดันไฟฟ้า” เมื่อรู้ค่ากระแสไฟฟ้าสูงสุดแล้ว จึงนำไปเทียบกับตารางมาตรฐานเพื่อเลือกขนาดสายไฟที่เหมาะสม โดยการเลือกสายไฟที่มีขนาดใหญ่เกินไปอาจทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น ในขณะที่การเลือกสายไฟที่เล็กเกินไปอาจก่อให้เกิดความร้อนสูงและเป็นอันตรายได้
การต่อสายไฟ
การต่อสายไฟให้ได้มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านที่ถูกต้อง ต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะกับลักษณะและขนาดของสายไฟ โดยอุปกรณ์ที่ใช้มีหลายประเภท เช่น เทอร์มินัลบล็อกสำหรับสายไฟแบบมีฉนวน แค็ปแลนสำหรับสายไฟเปลือย และบล็อกต่อสายไฟสำหรับเชื่อมต่อสายไฟหลายเส้น ซึ่งการต่อสายไฟต้องทำอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันการหลุดหลวมซึ่งอาจนำไปสู่การลัดวงจร และถ้าพบความเสียหายหรือชำรุด ต้องดำเนินการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนทดแทนโดยเร็วที่สุด
การติดตั้งตู้เมนไฟฟ้า
ตำแหน่งที่เหมาะสมของการติดตั้งตู้เมนไฟฟ้าควรอยู่ที่ชั้นลอยหรือชั้นสอง เพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและช่วยให้สามารถตัดไฟเฉพาะชั้นล่างได้อย่างปลอดภัย สำหรับบ้านชั้นเดียว ควรติดตั้งตู้เมนให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 1.6 เมตร โดยระบบไฟฟ้าที่ดีควรมีการแยกวงจรย่อยอย่างน้อยหนึ่งวงจร เพื่อให้สามารถควบคุมการจ่ายไฟในแต่ละส่วนของตัวบ้านได้
ตำแหน่งการติดตั้งสวิตช์และเต้ารับ
มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านให้ความสำคัญกับตำแหน่งการติดตั้งสวิตช์และเต้ารับ ซึ่งควรอยู่สูงพอที่จะไม่ถูกน้ำท่วมถึง โดยถ้าบ้านของคุณมีเต้ารับที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชั้นล่างของบ้านอาจจำเป็นต้องมีการป้องกันเพิ่มเติม โดยติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วหรือตัวกันดูดที่มีความไวสูง (ไม่เกิน 30 มิลลิแอมแปร์) เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดการรั่วไหล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วม
วงจรสายไฟย่อย
การจัดวงจรสายไฟย่อยโดยเฉพาะสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน หรืออ่างน้ำ แนะนำให้มีวงจรแยกต่างหาก รวมทั้งในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือพื้นที่ลุ่ม เต้ารับที่อยู่ชั้นล่างต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วที่มีความไวสูง และสำหรับบ้านชั้นเดียวก็ควรมีการแยกวงจรย่อยอย่างน้อยหนึ่งวงจร เพื่อให้สามารถควบคุมการจ่ายไฟในแต่ละส่วนของบ้านได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
เครื่องตัดไฟรั่ว
สิ่งสำคัญของมาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านคือ การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งภายในและภายนอกบ้าน เช่น ห้องน้ำ โรงจอดรถ ห้องครัว รวมถึงบริเวณที่อาจเกิดการสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้โดยตรง นอกจากนี้ ยังรวมถึงพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เช่น ห้องใต้ดิน ไปจนถึงวงจรที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเครื่องตัดไฟรั่วจะลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า
ติดตั้งสายดิน
สายดินเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่ในการนำกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลลงไปสู่พื้นดิน แทนที่จะผ่านมายังร่างกายของเรา สายดินจึงช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกไฟดูดได้ เมื่อสัมผัสกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีไฟรั่ว โดยการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้กำหนดให้การติดตั้งสายดินเป็นข้อบังคับสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน การปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
สายไฟ 4 ประเภทที่นิยมใช้ภายในบ้าน
สายไฟที่ใช้ภายในบ้านต้องเป็นตัวนำทองแดงหุ้มฉนวน PVC และทนแรงดันไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 300 โวลต์ โดยมี 4 ประเภทหลักที่นิยมใช้ ดังนี้
- สายไฟฟ้าชนิด 60227 IEC 01 (THW) : เป็นสายแกนเดี่ยว ตัวนำทองแดงหุ้มฉนวน PVC ชั้นเดียว เหมาะสำหรับเดินในท่อร้อยสายฝังผนังหรือฝ้าเพดาน ไม่ควรใช้ภายนอกอาคารหรือฝังดินโดยตรง
- สายไฟฟ้าชนิด VCT หรือ VCT-G : มี 1-4 แกน ความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อสภาพอากาศ เหมาะสำหรับการเดินสายที่มีการเคลื่อนไหว ติดตั้งได้หลายรูปแบบ และมีสายดินในตัว
- สายไฟฟ้าชนิด VAF : เป็นสายแบน 2-3 แกน พบบ่อยในบ้านเรือนทั่วไป เหมาะสำหรับเดินลอยหรือในรางไวร์เวย์ ห้ามใช้ในการเดินสายแบบร้อยท่อฝังดินหรือฝังดินโดยตรง
- สายไฟฟ้าชนิด NYY หรือ NYY-G : มี 1-4 แกน คล้ายกับ VCT แต่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่า เหมาะสำหรับงานไฟฟ้านอกบ้านที่ต้องฝังดินโดยตรง
มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านมีกี่รูปแบบ เช็กได้ที่นี่!
มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป การเลือกวิธีที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น โครงสร้างของบ้าน งบประมาณ และความต้องการใช้งาน โดยในหัวข้อนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับรูปแบบการเดินสายไฟต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในบ้านพักอาศัย ซึ่งมี 3 แบบหลัก ๆ ดังนี้
การเดินสายไฟแบบฝังผนัง
การเดินสายไฟแบบฝังผนังนิยมใช้ในบ้านสมัยใหม่สไตล์โมเดิร์นที่ต้องการความสวยงามและเป็นระเบียบ โดยจะใช้ท่อ PVC ฝังในผนังหรือเพดาน แต่ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายสูง ซ่อมแซมยาก และไม่ยืดหยุ่นในการเพิ่มหรือลดสายไฟ ดังนั้น มาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านด้วยวิธีนี้จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบและหาช่างไฟฟ้าที่มีความเชี่ยวชาญ
การเดินสายไฟแบบเดินลอย
การเดินสายไฟแบบลอยเป็นวิธีที่ใช้กันมานาน เหมาะกับบ้านหลายประเภท โดยเฉพาะสไตล์ลอฟท์หรืออินดัสเทรียล ข้อดีคือติดตั้งง่าย เช็คสายไฟและซ่อมแซมสะดวก และปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง แต่ก็อาจทำให้บ้านดูรกรุงรังถ้ามีสายไฟมากเกินไป และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยื่นออกมาจากผนังอาจทำให้จัดวางเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นลำบาก
การเดินสายไฟแบบร้อยท่อ
การเดินสายไฟแบบร้อยท่อเป็นมาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านที่ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับระบบไฟฟ้าในอาคาร โดยใช้ท่อพีวีซีหรือท่อโลหะเป็นตัวห่อหุ้มสายไฟ วิธีนี้นิยมใช้ในอาคารสูงและห้างสรรพสินค้า ซึ่งสามารถช่วยป้องกันความเสียหายแก่สายไฟ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งบ้านโดยเฉพาะสไตล์ลอฟต์ได้อีกด้วย
บริการดูแลและตรวจสอบระบบไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย โดยทีมช่างผู้เชี่ยวชาญจาก “Q-CHANG”
บริการดูแลและตรวจสอบระบบไฟฟ้าตามมาตรฐานการเดินสายไฟเข้าบ้านโดยทีมช่างผู้เชี่ยวชาญจาก “Q-CHANG” เป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้านของคุณ ซึ่งการตรวจสอบประจำปีจะช่วยป้องกันปัญหาร้ายแรง เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร และแก้ไขปัญหาเล็กน้อยอย่างไฟตกหรือไฟดับ โดยทีมงานของ Q-CHANG พร้อมให้บริการครบวงจร ทั้งการตรวจสอบ ติดตั้ง ซ่อมแซม และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า โดยสามารถจองบริการเพื่อตรวจสอบก่อนทำการซ่อมหรือก่อนเข้าพักอาศัยได้ในช่องทาง ดังนี้
- เว็บไซต์ : www.q-chang.com
- LINE Official : @q-chang
- Facebook : Q-CHANG คิวช่าง