สุขภัณฑ์คือ

สุขภัณฑ์คืออะไร มีกี่ประเภท รวมข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อ

หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า “สุขภัณฑ์” แต่รู้หรือไม่ว่า สุขภัณฑ์มีบทบาทสำคัญมากกว่าแค่สิ่งของที่ใช้ขับถ่าย แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ในห้องน้ำด้วย เช่น อ่างล้างหน้า, ก๊อกน้ำ, ฝักบัว และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและสุขอนามัยในห้องน้ำ

สุขภัณฑ์ คืออุปกรณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความสะอาดและสุขภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการใช้งานร่วมกันหลายคน เช่น ในบ้าน, โรงเรียน, โรงพยาบาล หรือสถานที่สาธารณะ การเลือกใช้สุขภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและถูกออกแบบมาให้สะดวกต่อการทำความสะอาด สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีได้ 



ทำความรู้จัก สุขภัณฑ์ อุปกรณ์สำคัญคู่ห้องน้ำ

สุขภัณฑ์ (Sanitary ware) คือ อุปกรณ์และสิ่งของที่ใช้ในห้องน้ำเพื่อการขับถ่าย หรือที่คนส่วนใหญ่มักรู้จักกับ “โถสุขภัณฑ์” นั่นเอง ซึ่งการทำงานของสุขภัณฑ์เริ่มจากการรองรับของเสียที่ถูกขับถ่ายออกมา หลังจากนั้นสุขภัณฑ์จะทำหน้าที่ในการจ่ายของเหลวไปยังแหล่งขจัดของเสียหรือระบบระบายน้ำที่เหมาะสม โดยเป็นท่อระบายน้ำที่ได้รับอนุญาตให้ระบายสิ่งปฏิกูลออกไปได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

นอกจากนี้ อุปกรณ์สุขภัณฑ์คือส่วนสำคัญในการรักษาสุขอนามัยและความสะอาดของผู้ใช้ โดยสุขภัณฑ์สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามการใช้งาน เช่น อ่างล้างหน้า, อ่างอาบน้ำ, ฝักบัว, ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ทุกประเภทของสุขภัณฑ์ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป


โถสุขภัณฑ์มีกี่ประเภท?

เครื่องสุขภัณฑ์คือ
เครื่องสุขภัณฑ์คือ

อย่างที่ได้อธิบายไปถึงความหมายของสุขภัณฑ์ว่าคืออะไร สามารถแบ่งออกเป็นได้หลายประเภทตามลักษณะการใช้งาน ในหัวข้อนี้เราขอพูดถึงประเภทของโถสุขภัณฑ์ ซึ่งจะแบ่งประเภทได้ดังนี้

สุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว (One Piece WC)

สุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียว คือ โถสุขภัณฑ์แบบรวมถังพักน้ำและตัวโถสุขภัณฑ์ไว้ในชิ้นเดียว มีถังพักน้ำแบบ Flush Tank ที่เก็บน้ำไว้ในถังด้านหลัง และโดยส่วนใหญ่จะมีระบบเดินท่อน้ำทิ้งลงพื้น (S-Trap) ซึ่งเวลาติดตั้งท่อน้ำทิ้งของสุขภัณฑ์และท่อน้ำทิ้งของห้องน้ำจะประกอบกันได้พอดีนั้น ต้องเว้นระยะระหว่างท่อน้ำทิ้งและผนังประมาณ 305 มิลลิเมตร 

นอกจากนี้ ข้อดีของโถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียวคือ เสียงจะเบากว่าประเภทอื่น เนื่องจากการออกแบบที่รวมถังพักน้ำและตัวโถสุขภัณฑ์ไว้ในชิ้นเดียว ไม่มีรอยต่อระหว่างชิ้นงาน ทำให้ลดการสั่นสะเทือนและเสียงรบกวนที่อาจเกิดขึ้น ประกอบกับตัวระบบ Flush Tank ที่เก็บน้ำในถังด้านหลังยังช่วยลดเสียงระหว่างการปล่อยน้ำและการเติมน้ำใหม่

สุขภัณฑ์แบบ 2 ชิ้น (Two Piece WC)

สุขภัณฑ์แบบสองชิ้นเป็นประเภทของโถสุขภัณฑ์ที่มีการแยกถังพักน้ำออกจากตัวโถสุขภัณฑ์ โดยใช้น็อตยึดโถสุขภัณฑ์และถังพักน้ำไว้ด้วยกัน ส่วนของการต่อท่อน้ำทิ้งต่อได้ทั้ง 2 แบบคือ แบบออกผนัง (P-Trap) หรือแบบลงพื้น (S-Trap) ข้อดีคือสามารถซ่อมแซมง่าย กรณีชิ้นส่วนใด ๆ ชำรุด สามารถเปลี่ยนเฉพาะส่วนที่เสีย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งชุด

สุขภัณฑ์แบบตั้งพื้น (Floor-Standing WC)

สุขภัณฑ์ประเภทต่อมาคือ สุขภัณฑ์แบบตั้งพื้น โดยโครงสร้างหลักของสุขภัณฑ์แบบตั้งพื้นประกอบด้วย ตัวโถสุขภัณฑ์, ถังพักน้ำแบบติดตั้งซ่อนไว้หลังผนังห้องน้ำ, มีมือกดควบคุมการปล่อยน้ำชำระล้าง และส่วนของระบบท่อระบายน้ำของระบบสุขภัณฑ์คือมีลักษณะเป็นท่อเข้า ท่อออก และท่อระบายน้ำ เลือกได้ทั้งแบบออกผนัง (P-Trap) หรือแบบลงพื้น (S-Trap) ให้เหมาะกับที่พักอาศัย โดยจะมีโครงเหล็กสำหรับยึดติดผนังเป็นโครงสร้างสำคัญที่รองรับน้ำหนักโถสุขภัณฑ์และถังพักน้ำ ช่วยกระจายแรงกดอย่างสม่ำเสมอเพื่อชำระล้างสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ 

สุขภัณฑ์แบบแขวนผนัง (Wall-Mounted WC)

สุขภัณฑ์แบบแขวนผนังคือ อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ดูสวยงามและช่วยประหยัดพื้นที่ใช้งานในห้องน้ำ โดยจะประกอบไปด้วยโถสุขภัณฑ์ ถังพักน้ำแบบซ่อนในผนัง และมือกด ซึ่งถังพักน้ำและระบบท่อน้ำทั้งหมดจะถูกยึดติดกับโครงเหล็กที่ยึดติดกับผนังหรือกำแพง 

เมื่อทำการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ จะมองเห็นเพียงโถสุขภัณฑ์และมือกดเท่านั้น เนื่องจากถังพักน้ำจะถูกซ่อนไว้ในผนัง ข้อดีของสุขภัณฑ์แบบแขวนผนังคือประหยัดพื้นที่ ดีไซน์ทันสมัย แต่ก่อนติดตั้งต้องมั่นใจได้ว่าผนังสามารถรองรับน้ำหนักโถสุขภัณฑ์และถังพักน้ำได้ ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับใครที่อยากจะรีโนเวทห้องน้ำใหม่เป็นสุขภัณฑ์แบบแขวนผนัง จำเป็นต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญในการติดตั้ง เพราะขั้นตอนจะซับซ้อนกว่าแบบตั้งพื้น 

สุขภัณฑ์แบบฟลัชวาล์ว (Flush Valve WC) 

สุขภัณฑ์แบบฟลัชวาล์ว ต่างจากโถสุขภัณฑ์แบบทั่วไปเนื่องจากไม่มีถังพักน้ำ แต่จะใช้เป็นระบบฟลัชมือกด ทำงานด้วยแรงดันน้ำจากท่อส่งน้ำประปา มีข้อดีคือใช้ปริมาณน้ำน้อยต่อการกดชักโครกแต่ละครั้ง ช่วยให้ประหยัดน้ำได้

สุขภัณฑ์แบบราดน้ำ 

โถสุขภัณฑ์แบบราดน้ำคือ โถสุขภัณฑ์ที่ใช้การราดน้ำด้วยมือเพื่อทำความสะอาดและล้างของเสียในโถ ไม่มีระบบฟลัชวาล์วหรือถังพักน้ำ เป็นโถสุขภัณฑ์ที่มีทั้งแบบนั่งยองและนั่งราบ การใช้งานง่าย ๆ เพียงแค่มีภาชนะตั้งน้ำและราดน้ำไปที่โถสุขภัณฑ์โดยตรง สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ใช้ได้ตามต้องการ โถสุขภัณฑ์ประเภทนี้มักพบในห้องน้ำที่มีการออกแบบเรียบง่าย มีพื้นที่จำกัด และต้องการการดูแลรักษาน้อย


ระบบท่อระบายน้ำของสุขภัณฑ์

ระบบท่อระบายน้ำของสุขภัณฑ์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบระบบเดินท่อน้ำออกผนัง (P-Trap) และแบบระบบเดินท่อลงพื้น (S-Trap)

  1. ระบบเดินท่อน้ำออกผนัง (P-Trap)
    ระบบ P-Trap เป็นการต่อท่อน้ำทิ้งที่ยื่นออกไปยังผนังด้านหลังของโถสุขภัณฑ์แล้วออกไปยังระบบท่อน้ำทิ้งภายนอก ท่อน้ำทิ้งจะโค้งเป็นรูปตัว P เชื่อมต่อกับท่อน้ำทิ้งในแนวนอน ส่วนโค้งนี้จะช่วยป้องกันกลิ่นย้อนกลับ เหมาะสำหรับห้องน้ำในอาคารสูง คอนโดมิเนียม หรือโรงแรมที่ไม่สามารถเจาะท่อลงสู่พื้นดินได้
  2. ระบบเดินท่อลงพื้น (S-Trap)
    ระบบ S-Trap เป็นการต่อท่อน้ำทิ้งลงสู่พื้นโดยตรง มักใช้ในห้องน้ำที่ท่อน้ำทิ้งถูกติดตั้งลงไปในพื้นห้องน้ำ ท่อน้ำทิ้งจะโค้งเป็นรูปตัว S เพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงย้อนกลับเข้ามาในห้องน้ำ โดยก่อนติดตั้งต้องมีระยะห่างระหว่างท่อน้ำทิ้งและผนังประมาณ 305 มิลลิเมตร เหมาะสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีการวางระบบท่อน้ำทิ้งลงพื้น

ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อสุขภัณฑ์

เลือกซื้อสุขภัณฑ์
เลือกซื้อสุขภัณฑ์

สุขภัณฑ์ คือ อุปกรณ์ชิ้นสำคัญในห้องน้ำที่เราใช้งานเป็นประจำทุกวัน ดังนั้น ก่อนจะซื้อมาดูกันว่าข้อควรรู้การเลือกซื้อสุขภัณฑ์ให้ตรงใจ ตอบโจทย์การใช้งานนั้นมีอะไรบ้าง

  • ตรวจสอบพื้นที่ห้องน้ำ วัดพื้นที่ทั้งความยาวและความกว้างของห้องน้ำ เพื่อทราบขนาดที่พื้นที่ใช้งานได้จริง และคำนึงถึงพื้นที่ว่างระยะห่างระหว่างโถสุขภัณฑ์กับผนัง เผื่อพื้นที่สำหรับการใช้งาน และเดินเข้าออก หลีกเลี่ยงการวางชิดผนังจนเกินไป รวมถึงตรวจสอบท่อน้ำและจุดต่อประปาที่มีอยู่ในห้องน้ำ
  • ประเภทของโถสุขภัณฑ์ มีหลายประเภทตามการติดตั้งและการใช้งานต่าง ๆ ควรเลือกประเภทที่เหมาะกับผู้ใช้งาน เช่น หากกังวลเรื่องกลิ่น ไม่แนะนำให้เลือกโถสุขภัณฑ์แบบราด
  • รูปทรงและดีไซน์ โดยทั่วไป รูปทรงของสุขภัณฑ์จะเป็นทรงกลมและทรงรี ทรงกลมมีขนาดเล็กและไม่ค่อยมีพื้นที่สัมผัสมาก ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานบนพื้นที่จำกัด ส่วนทรงรีเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสบายมากขึ้นในการใช้งาน มีพื้นที่สัมผัสกว้างกว่าทรงกลม ช่วยให้เฉลี่ยน้ำหนักกดทับได้ดีขึ้น จากนั้นเลือกดีไซน์ที่เข้ากับสไตล์การตกแต่งห้องน้ำ เพิ่มความสวยงามลงตัวให้กับห้องน้ำของคุณเอง
  • เปรียบเทียบราคา ก่อนตัดสินใจซื้อ คุณควรเปรียบเทียบราคาจากร้านขายสุขภัณฑ์ต่าง ๆ เลือกรุ่นที่เหมาะสมกับงบประมาณที่ตั้งไว้
  • ปรึกษาช่างผู้มีประสบการณ์ หากคุณอยากจะสร้างห้องน้ำหรือรีโนเวทจากห้องน้ำเก่าแต่ไม่มีความรู้ในเรื่องการเลือกโถสุขภัณฑ์ แนะนำให้สอบถามช่างที่มีประสบการณ์ เพื่อแนะนำคุณเกี่ยวกับขั้นตอนการติดตั้ง หรือข้อดี-ข้อจำกัดของโถแต่ละประเภทที่จะตรงกับการใช้งานของคุณ

ขั้นตอนติดตั้งสุขภัณฑ์เบื้องต้น

  1. วัดขนาดรอบปากท่อระบายน้ำ และขีดเส้นเป็นการมาร์กจุดสำหรับตั้งตัวโถสุขภัณฑ์
  2. เจาะพุกลงบนพื้นตามจุดที่มาร์กไว้ จากนั้นยกชักโครกไปวางโดยให้พุกสอดเข้ากับรูอย่างพอดี
  3. ทายาแนวกันซึมที่รอบฐานโถสุขภัณฑ์ 
  4. ติดตั้งส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างตัวถังพักน้ำชักโครก และติดตั้งขั้วต่อให้เรียบร้อย
  5. เปิดวาล์วน้ำเพื่อเติมน้ำเข้าสู่ถัง เป็นอันเรียบร้อย

ขั้นตอนการติดตั้งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของโถสุขภัณฑ์และยี่ห้อ ควรอ่านคู่มือการใช้งานของโถสุขภัณฑ์ชักโครกอย่างละเอียดก่อนทำการติดตั้ง หากไม่มั่นใจแนะนำให้เลือกบริการติดตั้งโถสุขภัณฑ์หรือรับรีโนเวทห้องน้ำจากช่างผู้มีประสบการณ์


บริการติดตั้งสุขภัณฑ์ รีโนเวทห้องน้ำจาก “Q-CHANG”

Q-CHANG ศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจร ยินดีบริการติดตั้งชักโครก สุขภัณฑ์ และรีโนเวทห้องน้ำแบบครบวงจร ด้วยทีมช่างมากประสบการณ์มั่นใจได้ในคุณภาพงาน บริการที่รวดเร็ว ตรงต่อเวลา และราคาที่คุ้มค่า สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่